
พิธีลอดซุ้มกระบี่ มาจากการพิธีแต่งงานของอัศวิน ซึ่งมีที่มาที่โรแมนติก เหมือนนิทานอยู่หน่อยๆ ค่ะ คือเมื่อนานมาแล้ว สมัยยุคกลางในอังกฤษ หากอัศวินผู้ใดแต่งงาน กษัตริย์จะพระราชทานซุ้มดอกไม้ให้อัศวินเพื่อเป็นเกียรติ (ในสมัยนั้นอัศวินต้องแต่งงานกับนางในวังหรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น) แต่มีอัศวินท่านหนึ่งที่หลงรักกับพยาบาลในหมู่บ้านจึงไม่ได้รับการยอมรับ จึงออกจากวังมาอยู่กับนางอันเป็นที่รัก แต่เมื่อถึงคราวสงคราม อัศวินท่านนั้นมาช่วยรบ กษัตริย์จึงขอให้เหล่าอัศวินทำซุ้มกระบี่ แทนซุ้มดอกไม้ เพื่อเป็นเกียรติแก่อัศวิน และเป็นการต้อนรับเจ้าสาวของอัศวิน หลังพิธีแต่งงาน อัศวินก็ร่วมรบเอาชนะสงครามได้ จากนั้นมา ซุ้มกระบี่ก็กลายเป็น พิธีแต่งงานอันทรงเกียรติของเหล่าอัศวิน!
ส่วนในประเทศไทยของเรา พิธีลอดซุ้มกระบี่ในไทยเริ่มมีครั้งแรก ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสุวัทนา และกลายเป็นรูปแบบของพิธีลอดซุ้มกระบี่ของไทยในทุกวันนี้

นายร้อยท่านที่มาช่วยทำพิธีซุ้มกระบี่ให้พิธีนี้ดูอลังการยิ่งใหญ่แบบนี้ ก็จะเป็นรุ่นน้อง หรือเพื่อนของเจ้าบ่าวที่มาช่วยทำพิธีนี้ให้นั่นเอง ส่วนใหญ่จะนิยมเป็น 5 – 9 คู่ค่ะ แล้วแต่บ่าวสาวจะเชิญมา
พิธีลอดซุ้มกระบี่ นอกจากจะเป็นพิธีที่มีเกียรติ มีความสำคัญ เข้มแข็ง และยังสวยงามแล้ว ยังมีความหมายที่ดีมากๆ ค่ะ นั่นก็คือ เป็นการแสดงความพร้อมที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ที่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ข้างหน้า คู่บ่าวสาวก็จะร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคทุกประการ ไปได้อย่างราบรื่นเหมือนกับการลอดซุ้มกระบี่นี้ และหมายถึงการต้อนรับเจ้าสาวสู่การเป็นภรรยาของนายทหารแห่งกองทัพอย่างเป็นทางการด้วยค่ะ