การแต่งงานเป็นจารีตประเพณีที่มีรูปแบบและความหมายซึ่งสามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ด้านวิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์ของคนล้านนา พิธีการแต่งงานของชาวล้านนาส่วนใหญ่จะอบอุ่นแฝงไปด้วยความนุ่มนวลอ่อนหวานทั้งข้างของเครื่องใช้ การแต่งกายและรายละเอียดต่าง ๆ


ไปดูขั้นตอน พิธีแต่งงานภาคเหนือ พิธีแต่งงานล้านนา
- พิธีขอเขย ขั้นตอนแรกของงานพิธี ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องนำพานธูปเทียน ไปทำพิธีขอเจ้าบ่าวหรือขอเขยกับทางฝั่งครอบครัวเจ้าบ่าวก่อนเริ่มงาน เปรียบเหมือนการเชื้อเชิญให้ทางฝั่งฝ่ายชายนำตัวเจ้าบ่าวไปเข้าร่วมพิธีให้ทันฤกษ์ที่วางเอาไว้ ซึ่งเป็นพิธีล้านนาแบบดั้งเดิม
- พิธีแห่ขันหมาก ฝ่ายชายจะเริ่มตั้งขบวนขันหมากเพื่อมาสู่ขอฝ่ายหญิง โดยการแห่ขันหมากแบบล้านนาจะนำขบวนด้วยวงปี่กลองและนางรำ พร้อมด้วยผู้ถือพานขันหมากต่างๆตามลำดับ นำขบวนผ่านด่านกั้นประตูเงินประตูทอง และเมื่อผ่านด่านทุกประตูแล้ว ทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องมีการนำซองเงินมามอบให้ทางคุณแม่ฝ่ายเจ้าสาว เพื่อเป็นการตอบแทนค่าน้ำนม และขอให้เปิดทางเพื่อเข้าไปรับตัวเจ้าสาวที่อยู่ด้านใน
- พิธีการเรียกขวัญ / ผูกข้อมือ การทำพิธีเรียกขวัญหรือทางเหนือเรียกว่า พิธีฮ้องขวัญ เป็นความเชื่อโบราณที่ว่าขวัญที่อยู่กับตัวจะคอยดูแลรักษา ช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกจากตัว นำพาโชคลาภและความสุขภาพดีมาให้แก่ผู้รับขวัญการทำพิธีเรียกขวัญให้คู่บ่าว-สาวนั้น ผู้ประกอบพิธีจะต้องเป็นอาจารย์ หรือผู้ใหญ่ที่ทั้ง 2 ครอบครัวให้ความเคารพนับถือหรือผู้อาวุโสที่บ่าวสาวเคารพรัก โดยพิธีการจะเริ่มจากการผูกข้อมือซึ่งถือเป็นการผูกดวงชีวิตเข้าด้วยกัน โดยให้ญาติผู้ใหญ่ร่วมอวยพรเจ้าบ่าว-สาวแทนการรดน้ำสังข์ ฝ่ายเจ้าสาวจะผูกมือซ้ายและเจ้าบ่าวผูกข้อมือด้านขวา โดยเมื่อผูกข้อมือแล้ว แขกและญาติผู้ใหญ่จะต้องนำซองเงินไปใส่ลงในขันสลุงให้แก่บ่าว-สาว
- พิธีการส่งตัว ผู้ใหญ่จะผูกข้อมือของบ่าว-สาวให้อยู่ติดกัน โดยจะมีประธานในพิธีมาจูงมือทั้งคู่เข้าห้องหอ พร้อมกันนั้นให้ยกบายศรีและขันสลุงใส่เงินเข้ามาด้วย โดยการทำพิธีนี้จะให้ทางฝั่งพ่อแม่เป็นฝ่ายลงนอนเป็นตัวอย่าง และให้คู่บ่าว-สาวลงนอนพอเป็นพิธี ในตอนท้ายจึงรับคำอวยพรจากแขกผู้ใหญ่เป็นอันจบพิธี จะคล้ายๆกับพิธีแต่งงานไทยในขั้นตอนนี้ค่ะ

