ลำดับขั้นตอนการจัดงานแต่งงานพิธีจีน
ฤกษ์แต่งงาน
ขั้นตอนนี้จะเริ่มต้นด้วยทางฝ่ายบ้านเจ้าบ่าว นำดวงของเจ้าสาวไปให้ซินแสผูกดวงสมพงษ์และหาฤกษ์แต่งงาน หรือเรียกว่า “ชึ้งเมี้ย” เพื่อหาวันแต่งงานที่ดีที่สุด รวมถึงฤกษ์ตัดชุด ฤกษ์หมั้น ฤกษ์ยกน้ำชา ฤกษ์ปูเตียง ฤกษ์แห่ขันหมาก ฤกษ์เข้าบ้านฝ่ายชาย ฤกษ์เจ้าสาว กลับบ้าน เมื่อได้วันและเวลาแล้วก็จะทำการส่งต่อไปยังบ้านเจ้าสาวต่อไป
สิ่งที่ทางฝั่งบ้านเจ้าสาวต้องเตรียม
สิ่งของต่างๆที่ทางฝ่ายเจ้าสาวต้องจัดเตรียมเมื่อออกเรือนนั้น จะมีดังนี้
– เอี๊ยมแต่งงานซึ่งเป็นเอี๊ยมสีแดง ตรงอกเสื้อเอื้อมมีช่องกระเป๋าปักตัวอักษร “แป๊ะนี้ไห่เล่า” แปลว่า อยู่กินกันจนแก่เฒ่า ในกระเป๋าเอี๊ยมบรรจุห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด มีความหมายว่าเจริญงอกงาม
– ต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง 2 ต้น และปิ่นทองที่ทำเป็นตัวลายภาษาจีนว่า “ยู่อี่” แปลว่า สมปรารถนา
– เชือกแดงสำหรับผูกเอี๊ยมมีตัวหนังสือ “ซังฮี้” มีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเพชร
– กะละมังสีแดง 2 ใบ
– ถังน้ำสีแดง 2 ใบ
– กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ
– กระโถน 1 ใบ พร้อมกระจก กรรไกร ด้าย เข็ม ถาดสีแดง
และนอกจากนี้ของที่จัดเตรียม ต้องเป็นจำนวนคู่อย่างตะเกียบ ชุดน้ำชา พัดแดง สำหรับเจ้าสาวถือตอนส่งตัว อีกทั้งยังมีผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม 1 ผืน หมอน 1 ชุด ซึ่งจะมี 4 ใบ หรือ 5 ใบก็ได้ ประกอบไปด้วยหมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ ซึ่งหมอนใบยาวนี้จะมีหรือไม่ก็ได้ ถ้าเจ้าสาวฐานะดีพ่อแม่อาจจะจัดเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้ด้วย แล้วสุดท้ายยังมีหวีอีก 4 เล่ม ที่เป็นเคล็ดมงคลตามภาษาจีนเขียนว่า “ซี้ซี้อู่หอซิว” หมายถึงทุกๆเวลาจะได้มีทรัพย์
ทั้งนี้ทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมกล้วย โดยต้องยกมาทั้งเครือเขียวๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ก็ถือว่ายิ่งดี และถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็ถือว่าดีมาก เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ให้เอากระดาษสีแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ ซังฮี่ บนเครือกล้วย โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้เอากลับเมื่อทำพิธีสู่ขอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมส้มเช้ง จำนวนคู่ ติดซังฮี่ด้วยเช่นกัน และต้องคืนขนมแต่งที่ฝ่ายชายให้มาซึ่งจะคืนให้ไปครึ่งหนึ่ง
ในคืนก่อนวันงาน ก็จะมีการอาบน้ำใบทับทิม เพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าชำระสิ่งชั่วร้ายไปให้หมด จากนั้นจะสวมชุดใหม่และนั่งลงให้หญิงที่มีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์พูนสุข หวีผมให้พร้อมกับกล่าวคำอวยพร
สิ่งที่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวต้องต้องเตรียม
เครื่องขันหมากของเจ้าบ่าว
สินสอดทองหมั้น ( เพ้งกิม )
เพ้ง คือ เงินสินสอด แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง แต่ถ้าเจ้าสาวยังมีอากง อาม่าหรือปู่ย่าอยู่ฝ่ายชายต้องจัดเงินอั้งเปาอีกก้อนหนึ่งให้เ ป็นพิเศษด้วยพร้อมชุดหมู 1 ชุดอีกต่างหาก โดยพ่อแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้รับขึ้นมา กิม คือ ทอง แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกเช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะพิถีพิถันก็อาจขอเป็น ” สี่เอี่ยกิม ” แปลว่าทอง 4 อย่าง เพราะเลข 4 เป็นเลขดีของคนจีน ทอง 4 อย่าง เช่น กำไลทอง สร้อยคอทองคำ ตุ้มหูทอง เข็มขัดทอง

กล้วย
ต้องยกมาทั้งเครือเขียว ๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ยิ่งดี แล้วนับจำนวนให้ลงเลขคู่ ถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็จะดีมาก เวลาใช้ให้เอากระดาษแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ ” ซังฮี่ ” บนเครือกล้วย และทาสีแดงบนลูกกล้วยทุกใบ และฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้เอากลับ เมื่อพิธีสู่ขอเสร็จแล้ว กล้วยเป็นผลไม้ที่มี 2 นัยมงคล
– จำนวนผลที่มากมาย อวยพรให้มีลูกหลานสืบสกุลมาก ๆ
– ดึงสิ่งดี ๆ ให้มาเป็นของเรา ซัง แปลว่า คู่ ฮี่ แปลว่า ยินดี ซังฮี่ จึงแปลว่า ความยินดีของหญิงชายคู่หนึ่ง ซึ่งก็คือคู่บ่าวสาวนั่นเอง

อ้อย
อ้อย 1 คู่ ยกมาทั้งต้น เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่หวานชื่น แต่บางบ้านไม่เอา เพราะเป็นความหวานที่กินยากต้องทั้งปอกทั้งแทะ
ส้ม
ส้ม เป็นผลไม้มงคลให้โชคดี นิยมใช้ส้มเช้งเขียว ติดตัวหนังสือซังฮี่สีแดงทุกผล และต้องให้จำนวน เป็นเลขคู่แล้วแต่ฝ่ายหญิงกำหนด
ขนมหมั้น,ขนมแต่งงาน
ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กำหนดทั้งชนิดและจำนวน การกำหนดชนิดคือ จะให้เป็นขนม 4 สี เรียกว่า ” ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ ” หรือขนม 5 สี เรียกว่า ” โหงวเส็กทึ้ง ” ประกอบด้วย ขนมเหนียวเคลือบงา, ขนมเปี๊ยะโรยงา, ขนมถั่วตัด, ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน นอกจากนี้บางบ้านอาจขอให้มีน้ำตาลทราย, ซาลาเปาไส้หวาน, และคุกกี้กระป๋องด้วย โดยจำนวนของขนมแต่งงานและคุกกี้กระป๋อง ฝ่ายหญิงมักกำหนดจำนวน โดยนับจากจำนวนของญาติมิตรที่จะเชิญ มีคำเรียกการให้ขนมแต่งงานแก่ญาติมิตรว่า ” สั่งเปี้ย ” สั่ง หรือ ซั้ง แปลว่า ให้ เปี้ย แปลว่า ขนม ในที่นี้หมายถึงขนมหมั้นหรือขนมแต่งงาน
ชุดหมู เท่าที่พบจะมีประมาณ 3 ถาด
– ถาดที่ 1: เป็นชุดหัวหมูพร้อม 4 เท้าและหาง โดยเล็บเท้าต้องตัดเรียบร้อยติดตัวหนังสือซังฮี่
– ถาดที่ 2: เป็นถาดขาหมูสดติดตัวซังฮี่เช่นเดียวกัน
– ถาดที่ 3: เป็น” โต้วเตี้ยบะ” เท่านั้น คือเป็นเนื้อหมู ตรงส่วนท้องของแม่หมู เพื่ออวยพรให้เจ้าสาวได้เป็นแม่คน แม่ที่อุ้มท้องเพื่อให้กำเนิดบุตรแก่ฝ่ายชายและมีธรรมเนียมว่าทางฝ่ายหญิง ก็ต้องให้ชุดหมูสดตอบแทนแก่ฝ่ายชาย แต่ชุดหมูของฝ่ายหญิงจะเป็นชุดหัวใจหมูที่ต้องสั่งพ่อค้าเป็นพิเศษว่าเป็นชุดหัวใจทั้งยวงที่ยังมีปอดและตับติดอยู่ด้วยกัน เมื่อเสร็จพิธี ชุดหัวใจนี้อาจทำได้เป็น 2 แบบ
– แบบ 1: คือ ฝ่ายหญิงแบ่งชุดหัวใจให้ฝ่ายชายไปครึ่งหนึ่ง
– แบบ 2: คือ เอาชุดหัวใจนี้ไปประกอบอาหารให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวรับประทานร่วมกัน เพื่อเป็นเคล็ดอวยพรให้หญิงชายมีจิตใจร่วมกันเป็นใจหนึ่งใจเดียวกัน
ของเซ่นไหว้ที่บ้านเจ้าสาว
ฝ่ายชายต้องเตรียมของไหว้ 2 ชุด
– ชุด 1: สำหรับไหว้เจ้าที่
– ชุด 2: สำหรับไหว้บรรพบุรุษ
การจัดเตรียมของไหว้ที่ครบถ้วน จะต้องมีทั้งของคาว ขนมไหว้ ผลไม้ไหว้ เหล้า อาหาร 10 อย่าง ธูปเทียนดอกไม้ และมีของไหว้พิเศษ คือเส้นหมี่ เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่ยืนยาว และนิยมหาเถ้าแก่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือและมีชีวิตครอบครัวที่ดีมาเป็นผู้นำขบวนหรือช่วยถือของขันหมาก เพื่อเป็นสิริมงคล
เครื่องขันหมากมีหลายอย่างที่นิยมแบ่งกันคนละครึ่ง เช่น ขาหมู 2 ขา ก็คนละ 1 ขา อ้อย ขนมขันหมาก ชุดลำไยแห้ง ต้นชุงเฉ้า ส่วนของที่ฝ่ายชายต้องเอากลับไปทั้งหมด ก็คือ กล้วยเขียวเครือใหญ่, เอี๊ยมแต่งงาน, ชุดหัวใจหมู, ถาดไข่, และถาดส้มเช้งของฝ่ายหญิง
เมื่อถึงวันหมั้น เครื่องขันหมากบองเจ้าบ่าวจะยกมายังบ้านเจ้าสาว พร้อมกับนำสินสอดทองหมั้น ซึ่งเครื่องขันหมากที่เจ้าบ่าวจัดเตรียมมาให้นั้น ทางบ้านเจ้าสาวต้องเก็บไว้ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งต้องคืนให้กับบ้านเจ้าบ่าวไป พร้อมกับส้มเช้งติดตัวซังฮี่ ที่จัดเป็นคู่กันกับเอี๊ยมแดงเสียบปิ่นทอง และเช้าในวันส่งตัวฝ่ายเจ้าบ่าวจะมีการคืนปิ่นทองให้เจ้าสาวเสียบผมต่อออกจากบ้าน นอกจากส้มเช้งแล้วยังมีกล้วยที่ฝ่ายเจ้าสาวให้ฝ่ายเจ้าบ่าวกลับไปเป็นนัยวั่า จะได้มีลูกหลานสืบสกุล
เมื่อเสร็จจากพิธีขันหมากแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะรอฤกษ์ในสวมแหวนหมั้นต่อหน้าญาติผู้ใหญ่ จากนั้นญาติผู้ใหญ่ก็จำทำการให้พร เชิญแขกกินเลี้ยง จบอีกหนึ่งพิธี
ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน
1. เมื่อถึงฤกษ์หมั้น ฝ่ายชายยกขบวนมามอบสินสอด ทองหมั้นสวมแหวนและเครื่องประดับให้เจ้าสาว เสร็จพิธีคู่บ่าวสาวและแขกรับประทานขนมอี้ จากนั้นแบ่งขนมหมั้นให้กับญาติทั้งสองฝ่าย

2. เช้าวันแต่งงาน เจ้าสาวสวมชุดใหม่สวยงาม เสียบปิ่นยู่อี่ และประดับใบทับทิมที่ผม เมื่อใกล้ถึงฤกษ์ เจ้าสาวจะทานอาหารกับครอบครัว
3. เมื่อถึงเวลาเจ้าบ่าวมารับตัว บางบ้านอาจมีการกั้นประตูในช่วงนี้ จากนั้นทั้งคู่ไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว (หากอาม่า อากง ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไหว้ท่านก่อนยกน้ำชาให้พ่อแม่เจ้าสาว)
4. ก่อนออกจากบ้าน คู่บ่าวสาวต้องทานขนมอี้ จากนั้นพ่อส่งเจ้าสาวไปกับเจ้าบ่าว โดยมีญาติผู้ชายของเจ้าสาวถือตะเกียงเซฟ และกระเป๋าซึ่งบรรจุสมบัติส่วนตัวไปด้วย
5. เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว ทั้งคู่ต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ รวมทั้งไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว จากนั้นยกน้ำชาให้พ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติผู้ใหญ่ เสร็จ แล้วคู่บ่าวสาวกินขนมอี้
6. ฤกษ์เข้าหอ การปูเตียงต้องมีฤกษ์ เมื่อผู้ใหญ่ปูเสร็จต้องวางส้มไว้ที่มุมเตียง และอีก 4 ผลวางใส่จานที่มีตัวซังฮี้และใบทับทิมนำไปวางกลางเตียง

7. เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าสาวต้องยกน้ำล้างหน้าให้พ่อแม่สามีเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นน้องชายเจ้าสาวมารับทั้งคู่กลับไปกินข้าวที่บ้านฝ่ายหญิง ถือเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน