พิธีแต่งงานในแต่ละภาคย่อมมีขั้นตอนการแต่งงานที่มีความแตกต่างตามประเพณีท้องถิ่นนั้นๆ ไปดูขั้นตอน พิธีแต่งงาน 4 ภาคมีอะไรบ้าง กันเลยค่ะ
พิธีแต่งงานในภาคเหนือ
1. การสู่ขอ
เมื่อคู่รักได้ตกลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันทั้งคู่จะมีการบอกต่อบุพการีหรือญาติพี่น้องของทั้งสองครอบครัวมาพบปะเพื่อพูดคุยตกลงกันเมื่อไม่มีข้อขัดข้องใดๆก็จะตกลงหาฤกษ์วันแต่งที่เหมาะสม และจัดงานแต่งงานขึันค่ะ
2. พิธีงานแต่งงาน
พิธีแห่ขันหมาก
ในวันงานบ่าวสาวจะเตรียมพานบายศรีและอาหาร เพื่อรับรองแขกเหรื่อที่มาร่วมงานทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนและแห่ไปยังบ้านเจ้าสาวนำโดยผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวเถ้าแก่ เจ้าบ่าวถือดาบและหีบผ้าใหม่ตามด้วยขบวนขันหมากเอกและขันหมากโท พานสินสอด ผ่านประตูเงินประตูทองและให้ญาติเจ้าสาวที่อายุน้อยทำการเช็ดหรือล้างเท้าเจ้าบ่าวก่อนเข้าบริเวณพิธี
พิธีฮ้องขวัญ
เมื่อเจ้าบ่าวและขบวนเข้าพิธีฝ่ายเจ้าสาวจะทำการตรวจนับสินสอดเรียบร้อยแล้วเจ้าบ่าวสวมแหวนหรือสร้อยให้เจ้าสาวซึ่งจะมีปู่อาจารย์ทำพิธีฮ้องขวัญปัดเคราะห์เรียกขวัญ ผูกข้อมือ และกล่าวอวยพร ด้วยคำล้านนาทำนองโบราณ จากนั้นให้แขกเหรื่อเข้าผูกสายสิญจน์อวยพรให้คู่บ่าวสาวและเมื่อได้ฤกษ์ยามที่นัดแนะกันไว้แล้วให้ผู้ใหญ่ที่เคารพและมีชีวิตการเเต่งงาน ที่ราบรื่นมาจูงคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอให้นั่งบ่าวสาวบนเตียงเพื่อรับโอวาทจากผู้ใหญ่เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีในวันแต่งงานค่ะ
3. การไหว้พ่อแม่
เมื่อคู่บ่าวสาวอยู่กินกันได้ 3 หรือ 7 วัน จะพากันไปไหว้ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยขอศีลขอพรจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายให้รับเข้าเป็นลูกหลานของวงศ์ตระกูลนำของรับไหว้ให้ญาติผู้ใหญ่จากนั้นจึงทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์และทำบุญสืบชะตาตามประเพณีล้านนาค่ะ


พิธีแต่งงานในภาคอีสาน
มีขั้นตอนนี้ดังนี้
การสู่ขอ : ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายบอกญาติผู้ใหญ่ของตนเอง ให้ไปสู่ขอฝ่ายหญิงจากญาติผู้ใหญ่ เรียกว่า การโอม
พิธีแห่ขันหมาก : จะเริ่มจากฝ่ายเจ้าบ่าวแห่ขันหมาก เพื่อไปทำพิธีแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว ซึ่งการแห่ขันหมากนี้เป็นเหมือนการประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่า คู่บ่าวสาวกำลังจะแต่งงานกัน พร้อมเชิญชวนให้มาร่วมแสดงความยินดี โดยมีลำดับของขบวนแห่จะเริ่มต้นหัวขบวนเรียงไปท้าย คือ ญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และเฒ่าแก่สู่ขอ จะเดินหน้าพร้อมถือขันเงินสินสอด ถัดจากนั้น คือ เจ้าบ่าว จากนั้น คือ ขบวนพาขวัญ ที่ถือโดยหญิงสาวบริสุทธิ์, ขันหมากพลู, ขันเหล้ายา, ญาติพี่น้อง และปิดท้ายด้วยขบวนดนตรีพื้นบ้าน ปี่ แคน และกลอง เป็นต้น
พิธีสู่ขวัญ : โดยให้เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าวนั่งอยู่ทางขวา และเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาวนั่งอยู่ทางซ้าย จากนั้นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะจับพาขวัญไว้โดยใช้แขนไขว้กัน ซึ่ง “ประเพณีสู่ขวัญ” จะเริ่มต้นพิธีโดยหมอสูตรหรือพราหมณ์ชาวบ้านจะกล่าวคำสวดคำขวัญอวยพร เสร็จแล้วหมอสูตรจะป้อนไข่แบ่งให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกินคนละครึ่งใบ โดยใช้มือขวาป้อนไข่ท้าวหรือฝ่ายชาย และมือซ้ายป้อนไข่นางหรือฝ่ายเจ้าสาว เสร็จแล้วก็ใช้ฝ้ายผูกข้อมือของคู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร
การขอขมาญาติผู้ใหญ่ หรือการสมนา : เป็นการมอบสิ่งของหรือของขวัญเพื่อขอบคุณญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งแต่ก่อนจะเป็นการมอบผ้าซิ่นและเสื้อสำหรับผู้หญิงให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็น ผู้หญิง และมอบผ้าโสร่งและเสื้อผู้ชาย ให้กับญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย
พิธีปูที่นอน และการส่งตัวเข้าหอ : เริ่มต้นด้วยการให้คู่รักที่ยังคงรักใคร่กันดี เป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาว โดยให้ปูของผู้ชายไว้ทางขาว ให้มีตำแหน่งสูงกว่า และของผู้หญิงปูไว้ทางซ้าย ให้มีตำแหน่งต่ำกว่าฝ่ายชาย แล้วทำพิธีนอนเอาฤกษ์ จากนั้นค่อยจูงเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าเรือนหอ และให้โอวาทในการอยู่ร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานตามขนบธรรมเนียมของภาคอีสาน
พิธีแต่งงานในภาคกลาง
พิธีสงฆ์ : เป็นพิธีเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้วลำดับต่อไป คือ พิธีการแห่ขบวนขันหมาก
พิธีการตั้งขบวนแห่ขันหมาก แห่ขันหมาก รับขันหมาก : ในปัจจุบันนิยมจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งในวันเดียว ดังนั้น จึงมีการรวบรัดเอา ขันหมากหมั้น และ ขันหมากแต่ง เข้าไว้ด้วยกัน โดยจะที่มีทั้ง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท และเมื่อตั้งขบวนขันหมากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะมีขบวนกลองยาวนำหน้าเพื่อสร้างความครึกครื้น โดยขั้นตอนนี้ต้องให้เจ้าสาวเตรียมตัวรอขันหมากบนบ้าน
พิธีสู่ขอและพิธีนับสินสอด : เมื่อตกลงยินยอมยกลูกสาวให้ ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิด เพื่อเข้าสู่พิธีนับสินสอด หลังจากนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด แล้วเข้าสู่พิธีพิธีสวมแหวนหมั้น
พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร : บ่าว สาวนั่งที่ตั้งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้านซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมกับเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด จากนั้นประธานหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่น ๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส
พิธีรับไหว้ : หรือ พิธีไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาว ด้วยการก้มกราบแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่ ท่านจะรับไหว้และผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือคู่บ่าวสาว พร้อมกับให้พรและใส่ซองเงิน หรือของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานให้ไว้เป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัว
พิธีส่งตัวเข้าหอ : เป็น พิธีสำคัญในช่วงสุดท้าย โดยผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวมาส่งตัวเข้าหอ ซึ่งเจ้าบ่าวจะมารออยู่ที่ห้องหอก่อนแล้ว


พิธีแต่งงานในภาคใต้
การสู่ขอ : ประเพณี การแต่งงานในศาสนาอิสลามเริ่มจากการสู่ขอ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องสู่ขอสตรีที่สามารถแต่งงานได้ด้วยเท่านั้น เมื่อฝ่ายหญิงตอบตกลงและกำหนด “มะฮัร” คือเงินที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องหาวันแต่งงานตามสะดวก วันแต่งงานเจ้าบ่าวจะต้องยกของหมั้นหรือมะฮัรมาที่บ้านเจ้าสาว หรือนัดวะลีย์และพยานทั้งสองฝ่ายไปเจอกันที่มัสยิดก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดวันแต่งงาน เนื่องจากความเชื่อของศาสนาอิสลามไม่เชื่อในเรื่องโชคชะตา จึงไม่นิยมดูฤกษ์ยามก่อนแต่งงาน และมีข้อห้ามไม่ให้เชื่อเรื่องดวงดาวและโชคชะตาต่าง ๆ อีกด้วย ดังนั้น ชาวมุสลิมจึงไม่มีฤกษ์วันแต่งงาน นอกจากความสะดวกทั้งสองฝ่ายเท่านั้น
คำกล่าวที่ใช้ในพิธีนิกะห์ : คำ เสนอของวะลีย์ คือ คำกล่าวของผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวเพื่อให้เจ้าบ่าวยอมรับการแต่งงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นการตอบรับระหว่างชายหญิง หลังจากนั้นจะมีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน (บทที่ว่าด้วยการครองเรือน) ให้บ่าวสาวฟัง เพียงแค่นี้ก็เสร็จสมบูรณ์
การเลี้ยงฉลองการแต่งงาน : หลังแต่งงานสามารถจัดงานเลี้ยงฉลองได้ เรียกว่า “วะลีมะฮ” ซึ่งจัดเลี้ยงที่บ้าน สโมสร หรือโรงแรมก็ได้ ตามสะดวก การเลี้ยงฉลองอาจไม่ต้องทำในวันเดียวกับวันนิกะห์ก็ได้ แต่การเลี้ยงฉลองนั้นต้องไม่เกิน 2 วัน เพราะอิสลามเคร่งครัดในเรื่องของงานเลี้ยงที่ฟุ่มเฟือย

