การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ถือเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมายาวนาน พิธีแต่งงาน แบบไทย พิธีแต่งงานง่ายๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในวันแต่งงาน สำหรับว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาวที่กำลังวางแผนแต่งงาน แต่ไม่รู้จะเริ่มเตรียมอะไรก่อนหลัง มาศึกษาพิธีแต่งงาน แบบไทยและไปเตรียมตัวกันได้เลยค่ะ

1. พิธีทำบุญตักบาตร
เมื่อมีพิธีหรืองานมงคลใดๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตคู่ คู่บ่าวสาวจะต้องทำบุญตักบาตรร่วมกัน และนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ค่ะ สำหรับการนิมนต์พระมาสวด นิยมเป็น 9 รูป เพราะเชื่อกันว่า เลข 9 เป็นเลขมงคล แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าค่ะ

ต้องจัดเตรียมอะไรบ้างสำหรับพิธีสงฆ์
- ชุดโต๊ะหมู่บูชา
- แจกันดอกไม้ 2 ชุด
- ธูป 3 ดอก
- เทียนสีเหลือง 2 เล่ม
- เทียนต่อ 1 เล่ม
- เชิงเทียนและกระถางธูป
- อาสนะ 9 ที่
- ที่กรวดน้ำ กระโถน แก้วน้ำ ทิชชู่
- ขันน้ำมนต์และที่สำหรับประพรมน้ำมนต์
- แป้งเจิม
- ชุดเครื่องเซ่นสำหรับพระพุทธและพระภูมิเจ้าที่
- อาหารสำหรับตักบาตร ขันข้าว ทัพพี
- ดอกไม้ธูปเทียน ถวายพระ 9 ชุด
- พานใส่ของถวายพระ
- ด้ายสายสิญจน์สำหรับทำพิธี และสายสิญจน์ที่ทำเป็นมงคลคู่ หรือมงคลแฝด
2. พิธีแห่ขันหมาก
โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นฝ่ายแห่ขันหมากเพื่อมาสู่ขอเจ้าสาวตามขนบธรรมเนียมปะเพณี และจะมีญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจำนวนมาก ร่วมแห่ขันหมากมาด้วยกัน บางงานแต่งมีการว่าจ้างรถแห่เพื่อความบันเทิงสนุกสนานในช่วงแห่ขันหมากด้วยค่ะ
3. ประตูเงินประตูทอง
เป็นพิธีต่อจากแห่ขันหมาก เมื่อฝ่ายเจ้าบ่าวมาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว จะมีทีมงานฝั่งเจ้าสาว ธีมเพื่อนเจ้าสาวที่แต่งตัวสวยๆหรือญาติผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าสาว คอยกั้นประตูเงินประตูทอง และจะมีกิจกรรม เกมส์กรเล่นที่สนุกสนานก่อนที่เจ้าบ่าวจะไปสู่ขอเจ้าสาวในลำดับต่อไป และฝ่ายเจ้วบ่าวต้องเตรียมซองเพื่อเป็นค่าผ่านด่านแต่ละประตูด้วยจ้า

4. พิธีสู่ขอเจ้าสาวและนับสินสอด
หลังจากฝ่ายเจ้าบ่าวมาถึงบ้านเจ้าสาว จะนำพานขันหมากเอก พานธูปเทียนแพ พานสินสอดทองหมั้น และพานแหวนหมั้น มาเรียงไว้บนโต๊ะด้านหน้าของพิธี จากนั้นพิธีกรจะเรียนเชิญผู้ใหญ่และเถ้าแก่ของทั้งสองเชิญนั่งเก้าอี้บนเวที โดยการนั่งนั้นจะให้ฝ่ายหญิงอยู่ทางซ้าย ส่วนฝ่ายชายนั่งอยู่ทางขวา โดยให้คุณพ่อของทั้งสองฝ่ายนั้งอยู่ด้านนอกสุด จากนั้นจะให้แม่ของเจ้าสาวทำการตรวจนับสินสอด และแม่เจ้าสาวก็ห่อผ้าสินสอดใส่หลังและทำการเก็บเป็นการเรียบร้อย

5. พิธีรับไหว้หรือผูกข้อมือ
ขั้นตอนพิธีรับไหว้
- คู่บ่าวสาวจะยกพานธูปเทียนแพคลานเข้าไปกราบคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งผู้ใหญ่จะรับไหว้คู่บ่าวสาวพร้อมทั้งกล่าวให้ศีลให้พร แล้วจึงหยิบด้ายมงคลหรือสายสิญจน์มาผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวเป็นการรับขวัญ
- จากนั้นคู่บ่าวสาวจะยกพานธูปเทียนแพให้ผู้ใหญ่ หลังจากผู้ใหญ่รับพานแล้ว ก็จะวางเงินในพานให้คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นเงินทุน
- ทั้งนี้ ญาติผู้ใหญ่จะผลัดเปลี่ยนกันไปทำพิธีรับไหว้อย่างต่อเนื่อง โดยจะไล่เรียงไปตามลำดับความอาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า นา อา เป็นต้น ส่วนใหญ่ พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะให้เกียรติทางฝ่ายชายทำพิธีรับไหว้ก่อน
6. พิธีสวมแหวนหมั้น
ขั้นตอนพิธีหมั้น
- เจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวหนึ่งครั้ง ที่ตักหรือระดับอก โดยเจ้าบ่าวจะต้องยกมือพนมรับไหว้เจ้าสาวด้วย
- จากนั้นเจ้าบ่าวจะสวมแหวนให้เจ้าสาวที่นิ้วนางข้างซ้าย
- เจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวอีกครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณ
- หลังจากนั้นเจ้าสาวจะสวมแหวนให้เจ้าบ่าวที่นิ้วนางข้างซ้ายเช่นกันค่ะ

7. พิธีรดน้ำสังข์
คู่บ่าวสาวนั่งที่โต๊ะรดน้ำสังข์ที่จัดเตรียมไว้ เจ้าบ่าวจะนั่งด้านขวามือของเจ้าสาว ซึ่งจะมีหมอนสำหรับรองมือ และพานรองรับน้ำสังข์ ประธานในพิธี จะทำการคล้องพวงมาลัย และสวมมงคลแฝดที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อยลงบนศีรษะของบ่าวสาว แล้วจึงจะหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ หรือแขกอื่นๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส

8. พิธีส่งตัวเข้าหอและปูที่นอน
โดยความเชื่อที่มีกันมานาน จะนิยมให้คนเฒ่า คนแก่ ที่อาวุโสที่ไม่เคยหย่าร้าง ทะเลาเบาะแว้งกัน เป็นผู้ปูที่นอนให้ เพื่อเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรักอันยึดมั่น ยาวนานตลอดไปค่ะ
ขั้นตอนง่ายๆดังนี้
- ก่อนที่เจ้าสาวจะเข้าห้องหอ เจ้าสาวต้องกราบลาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายของตัวเอง เพื่อเป็นการขอพร
- เมื่อได้ฤกษ์แล้ว แม่เจ้าสาวจะเป็นคนพาเจ้าสาวมามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแล
- จากนั้นญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอน จะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อความเป็นสิริมงคล และอาจอบรมให้รู้จักหน้าที่ของสามี-ภรรยาที่ดี ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน
- ปิดท้ายพิธีด้วยการให้คู่บ่าว-สาวนอนลงบนที่นอน
9. พิธีฉลองมงคลสมรส
เป็นพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างบ่าวสาวและแขกผู้มีเกียรติหลังจากเสร็จพิธีทุกอย่างแล้ว บางคู่มาจัดในพิธีช่วงเย็นของวันเดียวกัน บางคู่เลื่อนมาจัดอีกวัน เนื่องจากบ่าวสาวจะได้ไม่เหนื่อยมากค่ะ
