
การแต่งงาน หมายถึง การที่ชาย-หญิง มีความรักใคร่ต่อกันจนสุกงอม
และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกัน เป็นครอบครัวอย่างสามีภรรยา
การแต่งงาน เป็นประเพณีที่สำคัญสำหรับวิถีชีวิตไทย เพราะเป็นการบ่งบอกว่าผู้ที่แต่งงานนั้นมีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความรับผิดชอบมากขึ้น และพร้อมที่จะเป็นครอบครัว รับผิดชอบชีวิตอีกหลายคนเพิ่มขึ้นนอกจากชีวิตของตนเอง และยังได้ทำหน้าที่แสดงความสามารถ ตามบทบาทของตนเองในฐานะหัวหน้าของครอบครัว มีความเห็นอกเห็นใจกันและพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวอย่างสามีภรรยา จึงจำเป็นต้องแต่งงานกัน หรือบางทีอาจจะกล่าวได้ว่าการแต่งงานนั้นเป็นการบำบัดความต้องการทางเพศของมนุษย์ก็ได้ แต่ให้เป็นไปตามประเพณีของสังคม มีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายยอมรับและสังคมต้องรับรู้ด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ประเพณีการแต่งงานจึงจำเป็นต้องจัดให้มีพิธีกรรมตามขั้นตอนของประเพณีไทย เริ่มตั้งแต่ การทาบทาม สู่ขอ หมั้น และแต่งงาน พิธีการแต่งงานนี้ถ้าจะให้ถูกต้องเหมาะสม จะต้องประกอบพิธีทางศาสนาด้วยในตอนเช้า และอีกพิธีก็คือจะต้องจดทะเบียนแต่งงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ถือว่า การแต่งงานนั้นถูกต้องสมบูรณ์ ส่วนจะทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรนั้นจะกระทำตอนเย็นและเลี้ยงรับรองแขกผู้มีเกียรติไปพร้อมกันหลังจากหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรแล้ว หรือจะทำให้เสร็จภายในภาคเช้าเลยก็ได้ จะเป็นการประหยัดทั้งเวลาและเงิน ไม่เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ การที่จะเลี้ยงรับรองแขกจะกระทำที่บ้าน หรือโรงแรม สโมสร ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของคู่บ่าวสาวและเจ้าภาพของทั้งสองฝ่าย
จากประเพณีการแต่งงานที่จัดทำเป็นพิธีการขั้นตอนต่าง ๆ นั้น จึงนับว่ามีความสำคัญมาก และเป็นประเพณีที่งดงามเหมาะสม แสดงถึงความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมด้านจิตใจ และวัฒนธรรมทางด้านวัตถุของบรรพบุรุษของไทยเราที่มองการณ์ไกล และมีความละเอียดอ่อน โดยธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตแล้วย่อมมีความต้องการทางเพศสัมพันธ์ และต้องการสืบสกุลต่อไปด้วย จึงทำให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างคนกับสัตว์ และขณะเดียวกันกฎหมายและประเพณีไทยเราจึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์ของบุคคลที่จะทำการแต่งงานได้จะต้องมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง
1. การแต่งงานจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการแต่งงานก่อนนั้นได้ (ป.พ.พ.ม. 1448)
2. การแต่งงานจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคล ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (ม.1449)
3. ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดีจะแต่งงานกันไม่ได้ โดยให้ถือความเป็นญาติตามสายโลหิต ไม่คำนึงว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะแต่งกันกันไม่ได้ (ม. 1451)
5. ชายหรือหญิงจะทำการแต่งงานในขณะที่ตนมีคู่แต่งงานอยู่ไม่ได้ (ม. 1452)
6. หญิงที่สามีตายหรือที่การแต่งงานสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการแต่งงานใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการแต่งงานได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน หรือคลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น หรือแต่งงานกับคู่คนเดิม หรือได้มีใบรับรองของแพทย์ประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรระบุไว้ว่าไม่มีครรภ์ตลอดจนมีคำสั่งของศาลให้ทำการแต่งงานได้
7. เงื่อนไขเกี่ยวกับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง (ตาม ม. 1436) มาตรา 1455 การให้ความยินยอมให้ทำการแต่งงานกระทำได้ แต่จะต้องมีการลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส และผู้ปกครองจะต้องทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอม โดยระบุชื่อผู้แต่งงานและผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอมด้วย สุดท้ายถ้าหากมีเหตุที่จำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนก็ได้ ความยินยอมนั้นเมื่อเซ็นให้แล้วถอนไม่ได้
8. การแต่งงานตามประมวลกฎหมายนี้ จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนแต่งงานแล้วเท่านั้น
การหาฤกษ์
หนุ่มสาวที่รักใคร่ชอบพอกันจนกระทั่งตัดสินใจเข้าสู่พิธีแต่งงาน แต่ก่อนจะเข้าสู่พิธีแต่งงานจำเป็นจะต้องหาฤกษ์ยามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว ดังนั้นญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะต้องเอา วัน เดือน ปี ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางดวงชะตา หรือไปให้โหรดูว่าจะเหมาะสมกันหรือไม่ อยู่ด้วยกันแล้วจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรม เมื่อเห็นว่าเป็นคู่ที่ไปกันได้หรือมีความเหมาะสมกันก็จะหาฤกษ์ที่จะให้คู่บ่าวสาวอยู่ด้วยกันอย่างเจริญรุ่งเรืองตลอดไป โดยหาฤกษ์วันเวลาที่ยกขันหมาก ฤกษ์หมั้น ฤกษ์รดน้ำสังข์ และส่งตัวคู่บ่าวสาวไว้เรียบร้อย เพื่อสะดวกในการดำเนินงานตามพิธีการ และเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว เพื่อให้ครองคู่กันตลอดชั่วชีวิต ถือไม้เท้ายอดทองตะบองยอดเพชร ส่วนมากมักจะแต่งกันในเดือนคู่ เพื่อจะได้อยู่คู่เคียงกันตลอดไปนั่นเอง ยกเว้นเดือน 12 จะไม่นิยมแต่งงานกันในเดือนนี้ เพราะเป็นเดือนที่สุนัขมันติดสัดกัน และถ้าเป็นข้างขึ้นถือว่าดีกว่าข้างแรมเพื่อให้ชีวิตจะได้เจริญรุ่งเรืองสว่างไสว แต่บางทีก็จะแต่งงานกันในเดือน 9 ถือเคล็ดถึงความก้าวหน้า และเดือนที่นิยมแต่งงานกันมากที่สุดก็คือเดือน 6 เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อาจเป็นเพราะบรรยากาศช่วยเป็นใจมากกว่าใน ฤดูอื่น และเป็นต้นฤดูทำการเพาะปลูกของคนไทย ซึ่งหนุ่มสาวจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยการสร้างฐานะร่วมกัน