พิธีแห่ ขันหมาก เป็นพิธีแต่งงานแบบไทยที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เจ้าบ่าวและเครือญาติจะต้องยกขบวนขันหมากไปสู่ขอเจ้าสาวถึงสถานที่จัดงานกันเลยทีเดียวค่ะ
ขันหมากที่เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมไปขอเจ้าสาวนั้น แบ่งเป็นขันหมากเอกและขันหมากโท ขันหมากเอกคือพานนำขบวน ประกอบด้วยพานธูปเทียนแพ พานขันหมาก พานสินสอด พานแหวนหมั้นและต้นกล้วยต้นอ้อย
ส่วนขันหมากโทหรือเรียกว่าพานขันหมากบริวาร ประกอบด้วยพานอาหารคาว ไก่และหมู พานผลไม้ พานขนมมงคล

พานขันหมาก
พานขันหมากคือพานที่มักให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนถือ ในพานจะประกอบไปด้วยหมากพลูอันเป็นของที่นิยมกินกันในสมัยก่อน วางไว้เป็นคู่ ถุงเงินถุงทองใส่ธัญพืชมงคล ถั่วเขียว งาดำ ข้าวเปลือก ข้าวตอก อันหมายถึงความเจริญงอกงาม ให้ชีวิตครอบครัวมีความสุข
พานธูปเทียนแพ
นับเป็นอีกพานที่สำคัญมากเพราะเจ้าบ่าวจะต้องถือพานนี้ด้วยตัวเอง นั่นก็เพราะว่า พานธูปเทียนแพมีความหมายถึงการขอขมา การขออนุญาตผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวในการที่จะไปขอรับตัวลูกสาวเค้ามาเป็นภรรายาค่ะ ในพานจะมีแพเทียนด้านล่างสุด ถัดมาเป็นแพธูป และวางกระทงดอกไม้ไว้ด้านบนสุด


พานสินสอด
จะไปขอลูกสาวเค้าทั้งที จะขาดพานนี้ไปไม่ได้เลยค่ะ พานสินสอดนี้มักจะให้คุณพ่อคุณแม่เจ้าบ่าวเป็นฝ่ายถือ หรือญาติผู้ใหญ่ก็ได้ค่ะ อาจจะแยกเป็นพานเงินสด พานเครื่องทองและเครื่องประดับ พานโฉนดที่ดิน พานเหล่านี้จะคลุมด้วยผ้าลูกไม้ หรือจะรวมไว้ในพานเดียวกันก็ได้เหมือนกันค่ะ


พานต้นกล้วย-ต้นอ้อย
มักจะให้เพื่อนเจ้าบ่าวถือกันเป็นคู่ที่ต้นขบวนขันหมาก โดยต้นกล้วยต้นอ้อยนี้สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้น ให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมืองเหมือนต้นกล้วย ถ้าเป็นสมัยก่อนจะนำไปปลูกที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วยค่ะ

